วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ประวัติตำนานผาแดง-นางไอ่


"ผาแดง-นางไอ่" เป็นตามตำนานเล่าขานสืบต่อกันมา เป็นมูลเหตุที่ทำให้เกิด "หนองหาน" มีเรื่องราวเกี่ยวพันกับวรรณคดีพื้นบ้านอีสาน เรื่องผาแดง-นางไอ่ ตำนานรักอันลึกซึ้งของหนึ่งหญิงสองชายเมื่อฝ่ายหนึ่งพลาดรักและถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตายก็กลายเป็นสงคราม ทำให้บ้านเมืองถล่มทลายกลายเป็นหนองน้ำใหญ่ และวรรณคดีอีสานเรื่องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของบุญบั้งไฟ เป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ยิ่งใหญ่ขึ้นชื่อลือชาของชาวอีสานมาแต่บรรกาล "พญาขอม" ผู้ครองเมืองเอกชะทีตามีธิดานางหนึ่งชื่อ "นางไอ่" หรือนางไอ่คำเป็นหญิงที่มีรูปร่างหน้าตางดงามซึ่งจะหาสาวงามนางใดในสามภพมาเทียบมิได้ ความงดงามของเธอเป็นที่เลื่องลือไปทั่วแดนไกลเจ้าชายหลายหัวเมืองต่างหมายปองอยากได้นางมาป็นคู่ครอง "ท้าวผาแดง" เจ้าชายเมืองผาโพงทราบข่าวลือถึงศิริโฉมอันงดงามของนางไอ่ก็เกิดความหลงใหลไฝ่ฝันในตัว นางจึงวางแผนทอดสัมพันธ์ไมตรีด้วยการส่งแก้วแหวนเงินทองและผ้าแพรพรรณเนื้อไปฝากนางไอ่ เมื่อมหาดเล็กนำสิ่งของไปมอบให้นาง แถมยังได้บอกนางไอ่ถึงความสง่างาม องอาจ ผึ่งผายของท้าวผาแดง แดงให้ฟัง เท่านั้นเอง นางไอ่ก็เกิดความสนใจและมอบเครื่องบรรณาการกลับมาฝากท้าวผาแดงเป็นการตอบแทนด้วย ก่อนที่มหาดเล็กจะเดินทางกลับ นางไอ่ได้ฝากคำเชื้อเชิญท้าวผาแดงซึ่งตั้งทัพรออยู่นอกเมืองให้เข้าพบนางที่วังพญาขอมและคงเป็นด้วยบุพเพสันนิวาส ทำให้รักแรกพบของคนคู่นี้เป็นรักที่จริงใจและจริงจัง จนคนทั้งสองได้เสียกันไปอย่างสุดจะยั้งใจได้ "ท้าวพังคี" ลูกชายพญาศรีสุทโธ พญานาคผู้ครองเมืองบาดาล ก็เป็นอีกตนหนึ่งที่มีความไฝ่ฝันอยากยลศิริโฉมของนางไอ่ ทั้งนี้ก็เพราะเป็นเวรกรรมในอดีตชาตินั้นบันดาลให้เป็นไป ฝ่ายพญาขอมเห็นว่านางไอ่ก็โตเต็มสาวแล้ว จึงมาสาส์นแจ้งไปยังหัวเมืองน้อยใหญ่ให้ทำบั้งไฟมาจุดแข่งขันกันที่เมืองเอกชะทีตา เพื่อจุดถวายพระยาแถนผู้เป็นใหญ่ในชั้นฟ้าบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลประการหนึ่ง ส่วนอีกประการหนึ่ง หากบั้งไฟเมืองไหนขึ้นสูงกว่าก็จะได้นางไอ่ธิดาสาวผู้เลอโฉมไปเป็นคู่ครอง
พญาขอมได้กำหนดวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันงาน ทำให้เจ้าชายเมืองต่างๆทำบั้งไฟหมื่นบั้งไฟแสนมาจุดแข่งขันกันอย่างมากมาย บุญบั้งไฟครั้งนั้นนับเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่มโหฬาร พอถึงวันงานผู้คนก็หลั่งไหลมาทั่วทุกสารทิศ ทั้งยังมีการแข่งขันตีกลอง ซึ่งคนอีสานเรียกว่า "เส็งกอง" กันอย่างครึกครื้น หนุ่มสาวต่าง "จ่ายผญา" เกี้ยวพา ราสีกันอย่างสนุกสนาน บุญบั้งไฟในครั้งนี้แม้ท้าวผาแดงจะไม่ได้รับสาส์นเชิญให้นำบั้งไฟไปร่วมงานด้วยก็ตามแต่พญาขอมว่าที่พ่อตา ก็ให้การต้อนรับท้าวผาแดงเป็นอย่างดี ฝ่าย "ท้าวพังคี" เจ้าชายเมืองบาดาล ก็อยากมาร่วมงานกับมนุษย์ เพราะต้องการยลโฉมนางไอ่มาเป็นกำลังใจและคิดวางแผนในใจว่าบุญบั้งไฟครั้งนี้ต้องไปให้ได้ แม้พ่อจะทัดทานอย่างไรก็ตาม จากนั้นก็พาไพร่พลส่วนหนึ่งออกเดินทางขึ้นมาเมืองมนุษย์ ก่อนโผล่ขึ้นเมืองเอกชะทีตาของพญาขอมผู้เป็นใหญ่ ท้าวพังคีก็พาบริวารแปลงร่างเป็นมนุษย์บ้างสัตว์บ้าง ส่วนท้าวพังคีก็ได้แปลงร่างเป็นกระรอกเผือกซึ่งชาวอิสานเรียกว่า "กระรอกด่อน" ได้ออกติดตามลอบชมนาง โฉมนางไอ่ในขบวนแห่ของพญาขอม เจ้าเมือง ไปอย่างหลงใหลในความงามของนางไอ่




ตำนานนิทานอิสาน ผาแดงนางไอ่

การจุดบั้งไฟแข่งขันเป็นไปอย่างสนุกสนาน ทุกคนใจจดใจจ่ออยากรู้ว่าบั้งไฟเจ้าชายเมืองไหนจะชนะและได้นางไอ่ไปครอง ซึ่งการจุดบั้งไฟครั้งนั้น ท้าวผาแดงและพญาขอมมีเดิมพันกันว่าถ้าบั้งไฟท้าวผาแดงชนะบั้งไฟพญาขอมแล้ว ก็จะยกนางไอ่ธิดาสาวให้ไปเป็นคู่ครอง ผลปรากฏว่า บั้งไฟของพญาขอมไม่ยอมขึ้นจากห้าง ส่วนบั้งไฟของท้าวผาแดงแตก (ระเบิด) คาห้างคงมีแต่บั้งไฟของพญาฟ้าแดด เมืองฟ้าแดดสูงยาง และของพญาเซียงเหียนเท่านั้นที่ขึ้นสู่ท้องฟ้านานถึง 3 วัน 3 คืน จึงตกลงมาแต่พญาทั้งสองนั้นเป็นอาของนางไอ่เป็นอันว่าเธอจึงไม่ตกเป็นคู่ครองของใคร เมื่อบุญบั้งไฟเสร็จสิ้นลงท้าวผาแดงและท้าวพังคี ต่างฝ่ายต่างกลับบ้านเมืองของตน ในที่สุด "ท้าวพังคี" ก็ทนอยู่บ้านเมืองแห่งตนไม่ได้ เพราะหลงใหลในศิริโฉมอันงดงามของนางไอ่ จึงพาบริวารย้อนขึ้นมายังเมืองเอกชะทีตาอีกโดยแปรงร่างเป็นกระรอกเผือกอย่างเดิมที่คอแขวนกระดิ่งทองไปเกาะอยู่บนกิ่งไม้ใกล้หน้าต่างห้องนอนของนางเมื่อเสียงกระดิ่งทองดังกังวานขึ้น นางไอ่ได้ยินก็เกิดความสงสัย จึงเปิดหน้าต่างออกไปดูจึงเห็นกระรอดเผือกน่ารักน่าเอ็นดู นางก็เกิดความพอใจอยากได้ จึงสั่งให้นายพรานฝีมือดีออกไปติดตามจับกระรอกเผือก ได้แต่จนแล้วจนรอดนายพรานก็จับไม่ได้ นางไอ่เกิดความไม่พอใจขึ้นมาแทนที่ และสั่งให้นายพรานจับมาให้ได้ไม่ว่าจะจับเป็นหรือจะจับตาย นายพรานออกติดตามกระรอกเผือก เริ่มตั้งแต่บ้านพันดอน บ้านน้ำฆ้อง ก็ไม่มีโอกาสจับกระรอกเผือกเสียที จึงไล่ติดตามมาจนถึงบ้านนาแบก บ้านเหล่าหมากบ้า บ้านเหล่าแชแลหนองแวงบ้านเหล่าใหญ่ บ้านเมืองพริก บ้านคอนสาย บ้านม่วงก็ยังจับไม่ได้ ในที่สุดผลกรรมแต่ชาติปางก่อนตามมาทัน เมื่อกระรอกเผือกตัวน้อยหนีนายพรานมาถึงต้นมะเดื่อที่มีผลสุกเต็มต้น เจ้ากระรอกน้อยก็ก้มหน้าก้มตากัดกินลูกมะเดื่อด้วยความหิวโหยนายพรานไล่ตามมาทันก็เกิดความโมโหที่จับเป็นไม่ได้ จึงตัดสินใจจับตาย ด้วยการใช้หน้าไม้อาบยาพิษ ยิงถูกร่างเจ้ากระรอกเผือกเต็มรัก กระรอกเผือกหรือท้าวพังคี รู้ดีว่าต้องตายแน่ๆจึงสั่งให้บริวารกลับเมืองบาดาลเพื่อนำเอาความไปเล่าให้บิดาทราบและก่อนสิ้นใจ "ท้าวพังคี" ก็แสดงอิทธิฤทธิ์โดยร่ายมนต์อธิษฐานว่า "ขอให้เนื้อของตนมีมากมาย 8000 เล่มเกวียนมากพอ เลี้ยงผู้คนได้ทั้งเมืองอย่างทั่วถึง" เมื่อกระรอกเผือกสิ้นใจตาย นายพรานกับพวกนักล่าฝีมือฉกาจ ก็นำเอาร่างขอกระรอกเผือกไปชำแหละอาเนื้อที่บ้านเชียงแหว เมื่อนายพรานปาดเอาเนื้อให้ผู้คนทั้งบ้านใกล้บ้านไกลได้กินกัน ก็ปรากฏว่าเนื้อของกระรอกน้อยก็เพิ่มขึ้นมาอย่างทวีคูณ ผู้คนในเมืองต่างพากันกินเนื้อกระรอกอย่างอิ่มหมีพีมัน ยกเว้นผู้คนที่บ้านดอนแม่หม้ายไม่มีผัว หรือ "บ้านดอนแก้ว" ซึ่งอยู่กลางทุ่งหนองหานเท่านั้น ที่พวกพรานไม่ได้แบ่งปันให้กิน ฝ่ายบริวารท้าวพังคีเมื่อกลับถึงเมืองบาดาล ก็เล่าเหตุการณ์ท้าวพังคีถูกนายพรานฆ่าตายให้พญานาคราชผู้เป็นบิดาฟังบิดาท้าวพังคีก็เกิดความกริ้วโกรธาสั่งจัดบริวารเป็นริ้วขบวนนาคาขึ้นไปอาละวาดเมืองพญาขอมให้ถล่มทลายหายแค้น พร้อมประกาศก้องว่า "ใครกินเนื้อลูกภังคีของข้า พวกมึงอย่าไว้ชีวิต" พญานาคพาบริวารออกอาละวาดไปทั่วแดนเมืองเอกชะทีตา เสียงดังครืนๆ ฆ่าผู้คนตายไปอย่างมากมายสุดคณานับ แผ่นดินเมืองพญาขอมก็ล่มทลายลงเป็นหนองหาน ส่วนบ้านดอนแก้วหรือดอนแม่หม้าย แห่งเดียวที่ผู้คนไม่ได้กินเนื้อท้าวพังคี จึงไม่ได้ล่มทลายลงดังที่เห็นในปัจจุบัน ขณะที่บ้านเมืองกำลังล่มทลายเพราะอิทธิฤทธิ์ของพญานาคศรีสุทโธอยู่นั้น ท้าวผาแดงก็ขี่ม้าบักสามมุ่งหน้าไปหานางไอ่ ท้าวผาแดงเห็นนาคเต็มไปหมด และได้เล่าเรื่องที่พบเห็นให้นางฟัง แต่นางกลับไม่สนใจ แต่ได้ทำอาหารที่มีกลิ่นหอมหวนเป็นพิเศษมาให้ท้าวผาแดงรับประทานท้าวผาแดงจึงถามว่า เนื้ออะไร ทำไมจึงหอมนักก็ได้รับคำตอบจากนางว่า "เนื้อกระรอกนายพรานยิงตายนำมาให้" เท่านั้นเอง ท้าวผาแดงก็ทราบในทันทีว่าเป็นเนื้อของท้าวภังคี ลูกชายเจ้าพ่อศรีสุทโธนาคเจ้าเมืองบาดาล จึงไม่ยอมกินอาหาร "ต้องห้าม" ที่นางยกมาให้ พอตกตอนกลางคืนผู้คนกำลังหลับสนิท เหตุการณ์ร้ายก็เกิดขึ้น เสียงครืนๆแผ่นดินถล่มมาแต่ไกล ท้าวผาแดงก็รู้ทันทีว่าเป็นการกระทำของพญานาค จึงคว้าร่างนางไอ่ขึ้นหลังม้าบักสามควบหนีออกจากเมืองอย่างสุดฝีเท้าเพื่อให้พ้นภัย



แต่นางไอ่ได้กินเนื้อกระรอกกับชาวเมืองด้วย แม้ว่าท้าวผาแดงจะควบม้าคู่ชีพไปทางไหนนาคก็ดำดินติดตามไป แผ่นดินก็ถล่มทลายตามไปด้วย ท้าวผาแดงควบม้าไปทางภูพานน้อยต้นลำห้วยสามพาด เพื่อหนีไปยังเมืองผาโพง พญานาคก็ติดตามอย่างไม่ลดละ และแปลงร่างเป็นขอนไม้ยางขนาดยักษ์ขวางเส้นทางไว้ ม้าบักสามก็กระโดดข้ามอย่างสุดฤทธิ์ สองขาหน้าข้ามขอนไม้ไปได้แต่สองขาหลังคู้ขึ้นมาไม่ข้าม จึงทำให้ม้าเสียหลักล้มพังพาบลงอวัยวะเพศของม้าไปกระแทกกับภูพานน้อยเป็นร่องลึกลงไป และกลายเป็นต้นลำห้วยสามพาดมาตั้งแต่บัดนั้น ในที่สุดนางไอ่ก็ถูกพญานาคใช้หางฟาดตกลงจากหลังม้า และพญานาคก็คว้าตัวนางไปต่อหน้าท้าวผาแดง สุดแรงที่จะตามเมียรักกลับคืนมา เมื่อท้าวผาแดงกลับไปถึงเมืองผาโพง ก็คิดถึงนางไอ่เมียรัก ตรอมใจ ข้าวปลาไม่กิน ร่างกายผ่ายผอม สุดท้ายท้าวผาแดงจึงทำพิธีฆ่าตัวตาย เพื่อต้องการไปเป็นหัวหน้าผี นำทัพไปรบกับพญานาคช่วงชิงนางไอ่กลับคืนมาให้จงได้เมื่อท้าวผาแดงตายเป็นผี ก็ได้ไปเป็นหัวหน้าผีสมดังประสงค์ พอได้โอกาสเหมาะผีผาแดงก็เตรียมไพร่พลเดินทัพผีไป ไปรบกับพญานาค บริวารท้าวผาแดงมีเป็นแสนๆ เดินเท้าเสียงดังอึกทึกปานแผ่นดินจะถล่ม เข้ารายล้อมเมือพญานาคเอาไว้ทุกด้าน ต่างฝ่ายต่างใช้อิทธิฤทธิ์ รบกันนานถึง 7 วัน 7 คืน ไม่มีใครแพ้ชนะ ฝ่ายเจ้าพ่อศรีสุทโธ เจ้าเมืองบาดาลซึ่งแก่ชราภาพมากแล้ว ก็ไม่อยากก่อกรรมกก่อเวรเพราะต้องการไปเกิดในแผ่นดินพระศรีอาริยเมตไตรย์อีก จึงไปหาท้าวเวสสุวัณ ผู้เป็นใหญ่ให้มาตัดสินความ ท้าวเวสสุวัณจึงเรียกทั้งสองฝ่ายมา โดยให้ทั้งสองฝ่ายเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ทราบฟังเรื่องทั้งหมดจบแล้ว ท้าวเวสสุวัณจึงบอกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นผลของ "บุพกรรม" หรือกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อนที่ตามาในชาตินี้ และทั้งสองฝ่ายก็มีเหตุผลก้ำกึ่งกัน จึงให้ทั้งสองเลิกรา ไม่ต้องเข่นฆ่ากันอีก ขอให้มีเมตตาต่อกัน และให้ทั้งสองฝ่ายรักษาศีลห้าปฏิบัติธรรมและมีขันติธรรมต่อไป ส่วนนางไอ่ ระหว่างนี้ก็ให้อยู่เมืองพญานาคไปก่อน รอให้พระศรีอาริยเมตไตรย์จุติมาตัดสินว่าจะตกเป็นของใคร ท้าวผาแดงและพญานาคได้ฟังคำสั่งสอนของท้าวเวสสุวัณก็กลับมีสติ เข้าใจในเหตุและผลต่างฝ่ายต่างอนุโมทนาสาธุการ เหตุร้ายจึงยุติลงด้วยความเข้าใจ มีการให้อภัยกันในที่สุดนิยายรักเศร้าสุดประทับใจเรื่องผาแดง-นางไอ่ จึงจบลงแต่เพียงเท่านี้


นิยายรักอมตะ "ผาแดง-นางไอ่" ไม่เพียงเป็นนิยายรักพื้นบ้านซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีตลอดทั่วทั้งภาคอีสานเท่านั้นนิยายเรื่องนี้ยังได้รับการนำมาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติเมืองสกลนครด้วย หนองหาน ไม่ใช่จะมีอยู่แต่เพียงในจังหวัดสกลนคร แต่ยังมีอยู่ที่จังหวัดอุดรธานีด้วยและหากจะกล่าวถึงแหล่งน้ำกว้างใหญ่ ที่พญานาคได้ทำลายเมืองเอกชะทีตาลงจนกลายเป็นหนองน้ำใหญ่นั้นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในหลายจังหวัดของภาคอีสานอย่าง บึงพลาญชัย ก็มีประวัติที่อิงอยู่กับเรื่องพญานาคทำลายเมืองเอกชะทีตานี้อยู่ด้วยเช่นกัน





เรื่อง "ผาแดง-นางไอ่" นอกจากจะเป็นนิยายรักอมตะของอีสานแล้วยังเป็นวรรณกรรมโบราณหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่กล่าวถึงพิธีจุดบั้งไฟขอฝนของชาวอีสานไว้อย่างชัดเจน เป็นหลักฐานถึงประเพณีและความเชื่อเกี่ยวกับการจุดบั้งไฟขอฝนของชาวอีสาน ที่แน่ชัดว่ามีมาแล้วหลายร้อยปี จนในปัจจุบัน ในงานประเพณีบุญบั้งไฟโดยทั่วไปของชาวอีสาน สัญลักษณ์เรื่อง "ผาแดง-นางไอ่" คือ ท้าวผาแดงและนางไอ่คำ บนหลังม้าบักสาม ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของขบวนแห่บั้งไฟทุกๆขบวนไปแล้ว



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น